ทำไมการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา และล้างหนี้การศึกษา จึงเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในระดับฐานรากที่สุด

เมื่อพูดถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เรามักนึกถึงกรอบการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีความซับซ้อน การวางเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจพูดถึงรากฐานความเข้าใจของประชาธิปไตยผ่านระบบวัฒนธรรมต่างๆ ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

ในทางกลับกัน หากเราตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรคือรูปธรรมของอุดมคติที่ซับซ้อนของคำว่าประชาธิปไตย?

มันก็คือระบบการเมืองที่เราอยากให้เราก้าวพ้นจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการทำลายข้อจำกัดที่กีดขวางการเลื่อนลำดับชั้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้คนได้เริ่มชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ในบทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านทุกท่านพิจารณาหนึ่งในเงื่อนไขการสร้างประชาธิปไตยในระดับพื้นฐานที่สุดคือ สวัสดิการด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและหนี้ที่เกิดจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

เมื่อพูดถึง การเรียนฟรี คำนี้ถูกใช้เป็นคำใหญ่ในสังคมไทย ทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง  นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือสื่อมวลชน ต่างพูดถึงคำคำนี้ราวกับเป็นคำในอุดมคติ เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรเป็น แต่เมื่อถกเถียงกันอย่างจริงจังกับพบว่า มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ ไม่ต้องมีก็ได้ นับเป็นข้อสรุปที่มีความย้อนแย้งอย่างยิ่งในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเราเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ มันน่ารักถ้าอยู่ในนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ แต่มักกลายเป็นปีศาจร้ายเมื่อ ถูกนำเสนอและเรียกร้องแบบจริงจัง

สำหรับประเทศไทย นักเรียนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สาเหตุหลักมาจากความจนและภาระทางเศรษฐกิจ การแก้ไขที่ง่ายที่สุดสามารถเริ่มได้ที่การทำให้การเรียนหนังสือทุกระดับไม่เป็นต้นทุนติดลบ นักเรียนทุกคนในการศึกษาภาคบังคับหากได้รับค่าครองชีพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เงินนี้จะช่วยประคองชีวิต ประคองค่าเดินทางและอาหารเย็น อาหารกลางวันได้ และทำให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กีดขวางชีวิตก่อนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้หายไป

ดังนั้น เมื่อคนส่วนมากสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยไม่ถูกกีดขวางจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จำเป็นต้องคิดตามมาก็คือ การเปลี่ยนความคิดว่าการศึกษาคือการลงทุน การศึกษาเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ให้คิดว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถือเป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชน เมื่อพิจารณาในด้านนี้จะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเหนือระดับมหาวิทยาลัย สูงถึงประมาณ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อปีต่อคน ค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้ ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่คนส่วนใหญ่ในประเทศ จะสามารถเข้าถึงได้

ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีการ การให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำด้านนี้ และการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็กลายเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ เมื่อคนที่เข้าถึงเงินกู้ส่วนมากคือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เข้าศึกษาในสาขาที่มีแนวโน้มที่จะได้รายได้น้อยลงเข้าไปอีก เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงพบว่า คนเกือบลืมผู้ที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสามารถใช้หนี้ได้ ดังนั้น หากเราพูดถึงเรื่องสิทธิสวัสดิการด้านการศึกษา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ การทำให้หนี้อันเกิดขึ้นจากการศึกษาที่ไม่ได้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน มีการยกเลิกไปโดยปริยาย

ข้อเสนอการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา และการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จึงต้องถูกนำเสนอคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศที่การศึกษาราคาแพงที่สุดในโลก ประเทศที่ผู้คนจำนวนมาก คาดหวังว่าการศึกษาคือการยกระดับฐานะทางสังคม แต่คนส่วนใหญ่ กลับไม่สามารถเข้าถึง หนี้จากการศึกษากลายเป็นเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา เป็นบาดแผลของสังคมที่ตรงข้ามกับคำโฆษณาว่า ผู้คนมีอิสระ ในชีวิตที่เท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อ โจ ไบเดน เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาได้พาพลเมืองสหรัฐอเมริกา พ้นจากฝันร้ายในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาสามารถแก้ไขปัญหาด้านสวัสดิการและภาษีต่างๆ ซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เริ่มต้นโดยการสั่งพักหนี้การศึกษา ก่อนที่ในปี 2565 เขาได้ทำการล้างนี้บางส่วน ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดประมาณ 7 แสนบาทต่อคน สำหรับผู้เป็นหนี้การศึกษา กว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 10 เท่า ของลูกหนี้ กยศ.ในไทย

การล้างหนี้เป็นบันไดขั้นแรกในการเดินหน้าเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการอันเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย จากประเด็นถกเถียงในสังคม เราจึงพบว่า คนไทยไม่ได้คิดว่าการล้างหนี้เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือผู้เห็นต่าง ปัญหาไปอยู่ที่เรื่อง ศีลธรรม และความคู่ควรไม่คู่ควรกับสวัสดิการที่ควรได้รับ ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นสำคัญที่เหตุใดการล้างหนี้เพื่อการศึกษาจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนในสังคมไทย

1.   การล้างหนี้ คือวิกฤติระดับชาติ

คนไทยมีหนี้ท่วมหัวอยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์โควิดทำให้คนจนมากขึ้น การยกเลิกหนี้ทำให้คนมีภาระในชีวิตน้อยลง รัฐเคยมีการพักชำระเงินกู้ให้แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่หลายครั้ง ซึ่งสูญเสียดอกเบี้ย และโอกาสต่างๆหลาย 100 ล้านบาทต่อกลุ่มทุนไม่กี่ราย การล้างหนี้ กยศ. มีมูลค่าเท่ากับเรือดำน้ำเพียง 10 ลำเท่านั้น

2.   การยกเลิกหนี้ทำให้ความเท่าเทียมทางเพศสูงขึ้น

ผู้หญิงที่ต้องทำงานในภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง สิทธิลาคลอดต่ำ หนี้ กยศ. ยิ่งทำให้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำนี้ และผู้หญิงซึ่งมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติในการได้งาน หรือต่อรองค่าจ้าง การยกเลิกหนี้ทำให้ผู้หญิงเป็นอิสระมากขึ้น ต่อรองได้มากขึ้น และทำให้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีหลังสำเร็จการศึกษาได้ไวขึ้น

3.   กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแรงงานฝีมือมากขึ้น

หนี้ ไม่ได้เป็นตัวเร่งให้คนพยายาม หรือดิ้นรนในชีวิต จากสถิติ หนี้การศึกษากลายเป็นตัวกีดขวางจินตนาการว่าด้วยชีวิตที่ดีขึ้น กีดขวางการเริ่มทำธุรกิจ กีดขวางการทำงานตรงกับสายที่เรียนและความสนใจ บ่อยครั้งผู้เป็นหนี้สูญเสียโอกาสพัฒนาตนเอง

4.    คนทุกช่วงวัยได้รับผลกระทบจากการเป็นหนี้

บางคนเป็นหนี้แม้เรียนไม่จบ บางคนทำงานมาเป็น 10 ปีก็ยังเป็นหนี้อยู่ การยกเลิกหนี้จะช่วยสร้างการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม (Social Mobility) ผู้คนสามารถมีทางเลือกในชีวิตได้มากขึ้น มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าเมื่อล้างหนี้การศึกษาคนสามารถสร้างตัวได้ มีธุรกิจเล็กๆ เรียนต่อได้ ย้ายถิ่นฐานได้

5.   การล้างหนี้เป็นการป้องกันความยากจนระดับส่วนรวมไม่ใช่เรื่องปัจเจก

หนี้การศึกษาส่งผลต่อครอบครัว หลายคนต้องดูแลพ่อแม่ทั้งๆ ที่ยังจ่ายหนี้อยู่ หรือพ่อแม่เองก็ยังต้องจ่ายหนี้ที่กู้นอกระบบ เพื่อให้ลูกได้เรียน เมื่อมหาวิทยาลัยขึ้นค่าเทอมเรื่อยๆ ยิ่งเพิ่มอัตราให้คนเข้าไปเป็นหนี้ โดยปราศจากสวัสดิการจากรัฐ ไม่มีการควบคุมค่าเทอม ทำให้การกู้ยืมกลายเป็นเรื่องปกติ บวกกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนยิ่งแบกรับหนี้สินมากขึ้น การศึกษาและหนี้เพื่อการศึกษาจึงยิ่งเป็นภาระให้ประชาชน ดันนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ต้องล้างหนี้ พร้อมกับผลักดันการศึกษาให้เป็นสิทธิพื้นฐาน

ในบทความถัดไปผมจะพาทุกท่านพิจารณาว่าประเทศที่มีออกแบบมหาวิทยาลัยให้ผู้คนได้เข้าศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมค่าครองชีพส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่แตกต่างไปอย่างไร

โปรดรอติดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ที่จะเปิดให้ลงชื่อในเว็บพร้อมเลขบัตรประชาชน ให้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลทางกฎหมาย เร็วๆ นี้   

Authors

  • นักวิชาการคนสำคัญแห่งยุคนี้ ผลักดันรัฐสวัสดิการอย่างเอาจริงเอาจัง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนี้กำลังเดินหน้าข้อเสนอ ยกหนี้ กยศ.เรียนฟรีมีเงินเดือน เพื่อลูกหลานของเรา

  • นักออกแบบรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในด้านการออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ และหากมีโอกาสก็อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *