สถาบันพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่นกับโลกร่วมสมัย

“สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน พระองค์ทรงมีฐานะเช่นนั้นด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”

มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 1947 ของญี่ปุ่น ได้ระบุสถานะของสถาบันจักรพรรดิเอาไว้อย่างชัดเจน  ด้วยเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาโดย นายพลแมคอาเธอร์ ที่ต้องการให้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และการพัฒนาประชาธิปไตยญี่ปุ่น

การเมืองการปกครองญี่ปุ่นนอกจากจะมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งจากการกระจายอำนาจในระดับสูงโดยเปรียบเทียบกับในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยแล้ว ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือญี่ปุ่นปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันศาสนา และมีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

ทำให้สามารถธำรงรักษาสถานะในสังคมการเมืองญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน แต่ทว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงและธำรงรักษาสถานะที่อยู่เหนือการเมืองเป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าผ่านบทความชิ้นนี้

บทบาทของสถาบันจักรพรรดิในสมัยโบราณนั้น มีสถานะเป็นผู้นำกองทัพและผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ โดยฐานที่มาทางอำนาจของระบบจักรพรรดิคือ ความเชื่อทางศาสนา (คำเรียกจักรพรรดิในภาษาญี่ปุ่นคือเทนโนที่แปลว่า อธิปไตยจากสรวงสวรรค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นสมมติเทพ) และระบบการถือครองที่ดินในห้วงที่โครงสร้างการปกครองยังเป็นแบบระบบศักดินาชนชั้นอันประกอบไปด้วยนักรบ ชาวนา ช่างฝีมือและพ่อค้า โดยนักรบ[1] นั้น จักรพรรดิถือว่าอยู่ในชนชั้นนี้

ทว่าในยามที่ประเทศมีสงครามน้อยลง สถานะของจักรพรรดิก็เริ่มถูกลดบทบาทลง ในขณะที่อำนาจของกลุ่มขุนนางมีมากขึ้น เมื่อถึงสมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคแห่งการปกครองของรัฐบาลทหาร เกิดระบบการปกครองแบบโชกุนที่ได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและปกครองทุกระดับ คุมอำนาจส่วนกลาง โดยมีไดเมียวเป็นขุนนางที่มีอำนาจในแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุน ในขณะที่จักรพรรดิดำรงตำแหน่งในฐานะประมุข โชกุนจึงสามารถจำกัดอำนาจของพระจักรพรรดิลง โดยการยึดที่ดิน จำกัดการใช้จ่ายภายในราชสำนัก และออกกฎให้จักรพรรดิเป็นผู้นำทางศาสนาเท่านั้น[2]

ต่อมาสถานะของสถาบันจักรพรรดิได้กลับมาฟื้นฟูโดยซามูไรและนักศึกษาลัทธิชินโตที่สนับสนุนราชพิธีในราชสำนักเพื่อให้จักรพรรดิในฐานะผู้นำพิธีกรรมตามหลักศาสนาชินโตมีความเป็นรูปธรรม ปลายยุคเอโดะชนชั้นนักรบได้เสื่อมอำนาจลง ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าขึ้นมามีอำนาจแทนสมัยการปฏิรูปเมจิ พร้อมด้วยการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบศักดินาเสื่อมลงไป ทว่าการปฏิรูปเมจินั้นส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นเนื่องจากรัฐบาลมีความพยายามฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิในฐานะผู้นำทางทหาร มีการประกาศใช้กฎหมายให้เคารพเชิดชูจักรพรรดิและศาสนาชินโต การสร้างรัฐญี่ปุ่นสมัยใหม่ในสมัยเมจิ จึงเป็นการคืนอำนาจให้สถาบันจักรพรรดิมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าสถานะของจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามโลกนั้นมีที่มาจากรากฐานทางประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา เมื่อมีกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจขึ้นมาแทน อำนาจของสถาบันจักรพรรดิก็ลดลง แต่เมื่อมีกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นมาและเห็นว่าสถาบันจักรพรรดิมีความสำคัญจึงได้มีการฟื้นฟูบทบาทสถานะของสถาบันจักรพรรดิโดยเฉพาะขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งหลังการปฏิวัติเมจิตั้งแต่ปี 1868 เป็นต้นมานี้เองที่สถาบันจักรพรรดิเริ่มมีอำนาจทางการทหารมากขึ้น นำไปสู่การพาประเทศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2

ญี่ปุ่นในขณะนั้นกลายเป็นมหาอำนาจในเอเชีย การทำสงครามในครั้งนั้นถือเป็นการทำสงครามในนามของพระจักรพรรดิ จนกระทั่งญี่ปุ่นเริ่มเสียเปรียบจนจักรพรรดิต้องประกาศยอมแพ้ในสงคราม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นร่วมสมัย

ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นส่งผลให้สหรัฐอเมริกานำโดยนายพลแมคอาเธอร์เข้ามาปฏิรูปประเทศ โดย จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ผู้ประกาศสงครามไม่ต้องตกอยู่ในฐานะอาชญากรสงคราม สหรัฐฯ เห็นว่าการรักษาสถานะของจักรพรรดิที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเอาไว้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของญี่ปุ่น รวมถึงสถาบันจักรพรรดิในฐานะผู้ริเริ่มประกาศสงครามควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบผลจากสงครามนั้น[3]

สถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นจึงยังคงอยู่ในฐานะประมุข สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและประชาธิปไตยของรัฐ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ทรงมีพระบรมราชโองการในวันที่ 1 มกราคม 1946 ย้ำสถานะของจักรพรรดิว่าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่สมมติเทพ ทั้งนี้สถาบันศาสนาที่มีความเกี่ยวข้อง ใกล้ชิดและเป็นฐานที่มาความชอบธรรมของสถาบันจักรพรรรดิก็ถูกลดบทบาท ศาสนาพุทธชินโตไม่ใช่ศาสนาประจำชาติอีกต่อไป รวมถึงการยุติการสอนศาสนาในสถาบันการศึกษา รัฐและศาสนาจึงแยกจากกัน 

บทบาทของสถาบันจักรพรรดิหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจึงมีสถานะเป็นเพียงสัญลักษณ์ และเป็นสถาบันจักรพรรดิรุ่นใหม่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน พระราชกรณียกิจสำคัญคือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่มีความเปราะบาง ทุกข์ยากจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตามแม้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นจะมีการปรับตัวเนื่องจากความพ่ายแพ้สงครามแล้ว

ในยุคปัจจุบัน สถาบันจักรพรรดิยังทรงธำรงบทบาทในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ ทว่าท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นก็ถูกวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในเรื่องงบประมาณที่ยังใช้ภาษีจากประชาชนจำนวนมาก โดยในปี 2019 มีการใช้งบประมาณสำหรับสมาชิกและราชวังรวม 25,000 ล้านเยน ในปี 2021[4] มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านระบอบจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดจักรพรรดิถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 1947 ทำให้ประชาชนสามารถวิจารณ์สถาบันจักรพรรดิได้ นอกจากนี้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นยังต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องผู้สืบทอดราชบัลลังก์ที่ต้องเป็นชาย แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการสืบราชสมบัติแต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกปัดตก เนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมในรัฐบาลยังมีความเชื่อว่าจักรพรรดิที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นมีความเป็นมาอย่างยาวนานและมีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นต้องปรับตัวคือสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการเข้าร่วมสงครามในนามของพระจักรพรรดิและความพ่ายแพ้หลังสงครามที่ทำให้บทบาทของสถาบันจักรพรรดิลดลงเหลือเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น

โดยสถานะใหม่ของพระจักรพรรดิยังถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาอีกด้วย

เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงและประวัติศาสตร์ของสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นแล้วจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันจักรพรรดิเปลี่ยนแปลงนั้นอาจไม่ได้มาจากเจตนารมณ์ของสถาบันจักรพรรดิเองแต่เป็นเพราะเกิดกลุ่มอื่นที่มีอำนาจมากกว่าเข้ามาลดทอนอำนาจของสถาบันจักรพรรดิลง หรือใช้ประโยชน์จากสถาบันจักรพรรดิในการสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มของตน

การที่สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นมีอำนาจมากเกินไป ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ส่งผลต่อคนจำนวนมากดังเช่นการเข้าร่วมสงครามโลกได้ ในปัจจุบันเราอาจสรุปได้ว่าสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่มีอำนาจทางการเมือง มีเพียงอำนาจแบบพิธีการที่เกี่ยวข้องกับรัฐซึ่งต้องได้รับคำแนะนำและเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี[5]

สถานะสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นจึงเป็นอีกหนึ่งตัวแบบสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในโลกสมัยใหม่ ที่ธำรงสถานะเชิงสัญลักษณ์ทางประเพณีเอาไว้แต่ทรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในชาติ


[1]https://waymagazine.org/emperor-of-japan/

[2] แหล่งเดียวกัน

[3] https://tlhr2014.com/archives/24215

[4] https://waymagazine.org/emperor-of-japan/

[5] https://tlhr2014.com/archives/24215  

Authors

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *