อยากรู้ไหม จังหวัด ไหนได้งบประมาณประจำปี 2565 มากที่สุด ‘สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี’ ระบุว่า เงินงบประมาณประจำปี 2565 ตัวเลขกลมๆ คือ 3,100,000,000,000 บาท
และใช่ครับ จังหวัดที่ได้มากสุดแบบไม่ต้องเดาคือ กรุงเทพมหานคร 1,704,115,874,600 บาท คิดเป็น 54.97% ส่วนกลาง 587,409,336,900 บาท คิดเป็น 18.95%
ส่วนจังหวัดอันดับถัดมาคือ นนทบุรี 216,369,527,800 หรือเพียง 6.98% จากงบประมาณทั้งหมด
ถัดมาคือ นครปฐม 29,430,393,800 บาท หรือ 0.95% ตามมาด้วย นครราชสีมา 24,431,188,000 บาท หรือ 0.79% ข้ามไปอันดับ 10 เลยคือ จังหวัดขอนแก่น 17,001,642,500 หรือเพียง 0.55%
ข้อสงสัยคือ ทำไมเมืองหลวงถึงได้งบมากมายมหาศาลกว่าจังหวัดอื่นๆ
ข้อมูลจาก The World Bank (ปี 2010) ชี้ให้เห็นว่า ภาคกลาง มีรายได้ 44% งบประมาณ 7% ส่วน ภาคอีสาน รายได้ 11 % งบประมาณ 6 % ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากร 34% ของทั้งประเทศ
ส่วน กรุงเทพฯ รายได้ 26% งบประมาณ 72% โดนมีประชากร 17%
.
จากระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ Thailand Government Spending ปีงบประมาณ 2562 ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเองได้ 66,689 ล้านบาท โดยมาจาก ค่าธรรมเนียม อบจ. จากผู้เข้าพักโรงแรม / ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าปรับ / ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น
ผลรวมรายได้จัดเก็บของรัฐบาล (Gross) ในปี 2565 อันดับหนึ่งจาก กรมสรรพากร 701,352 ล้านบาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มปี 2564 เก็บได้ 793,243.11 ล้านบาท
.
เว็บไซต์กรมสรรพากร นิยามว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
เราซื้อของก็เสียภาษีตัวนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะปรับโครงสร้างการเก็บภาษีและการส่งคืนส่วนกลาง ให้ยุติธรรมต่อจังหวัดอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างสร้างสรรค์
ยุติรัฐรวมศูนย์ กระทั่งยุติการ ลากตั้ง เสียที และให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเอง ผ่านทั้งคูหาเลือกตั้ง และการทำประชามติ
นี่ยังไม่นับบรรดา สมาชิกวุฒิสภาจากการ แต่งตั้ง ซึ่งได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็น 113,560 บาท โดยเกิดคำถามว่า เข้าไปนั่งในสภาฯ ด้วยเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่
มิพักต้องกล่าวถึงงบ กองทัพ ในปี 2565 ราว 203,282 ล้านบาทนั้น เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง (ตัวเลขจากประชาชาติธุรกิจ) สุดท้ายคือ งบแต่ละกระทรวงในปี 2564
อันดับ1 คือ กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท สะท้อนกลับมายังคุณภาพการศึกษาไทยอย่างไร ส่วน กระทรวงกลาโหม ในอันดับ 4 203,282.0 ล้านบาทนั้น สำคัญกว่างบ กระทรวงสาธารณสุข อีกหรือ (ข้อมูลจาก www.itax.in.th)
ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยอย่างนั้นหรือ เมื่อไหร่จะมองเห็นคนเป็นคนที่มี ‘ศักดิ์ศรี’ ความเป็นมนุษย์เสียที ท่านๆ แสดงออกง่ายๆ ผ่านเรื่องงบประมาณ
มติชนออนไลน์รายงานว่า รัฐบาลซึ่งมีอำนาจบริหารประเทศมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการกำหนด ‘นโยบายรายจ่าย’ เพื่อบรรลุเป้าหมาย/แผนพัฒนาประเทศตามที่แถลงต่อรัฐสภา การอ่านหรือแปลความตัวเลขรายจ่ายจึงต้องดูละเอียด คือองค์ประกอบของรายจ่าย (ประเภทหรือหมวดรายจ่าย)
สะท้อนลำดับความสำคัญของการกำหนดรายจ่ายของแต่ละรัฐบาล จำแนกหมวดใหญ่ออกเป็น 6 หมวด คือ การบริหารทั่วไป การป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา และสังคม/ศาสนา
ในช่วง 2555-2557 ถือว่ากำหนดโดยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงหลัง 2558-2564 โดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
มติชนมีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 ประการ 1.รายจ่ายการบริหารทั่วไป-ป้องกันประเทศและรักษาความสงบรวมกัน 35% โดยประมาณ เป็นรายจ่ายบุคลากรภาครัฐรวมบำเหน็จบำนาญเป็นสำคัญ ค่อนข้าง ‘ตายตัว’ จึงเปลี่ยนแปลงไม่มากในแต่ละปี
2.สัดส่วนรายจ่ายด้านเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 25 โดยประมาณ 2 รายการนี้รวมกันเท่ากับ 60% ส่วนที่เหลือ 40% เป็นการจัดสรร 3 รายการคือ สาธารณสุข การศึกษา สังคมศาสนาและวัฒนธรรม
3.สังเกตเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนคือ ก) สัดส่วนรายจ่ายด้าน ‘การศึกษา’ ลดลงอย่างมากในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จากร้อยละ 20.6% เหลือร้อยละ 14.7% ข) รายจ่ายด้านสังคมศาสนาและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นจาก 6.7% เป็น 14.5% (ที่มา https://www.matichon.co.th/article/news_3041513)