10 ข้อสงสัย ทำไมต้องเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

𝟎𝟏 แค่กระแสคุณชัชชาติหรือเปล่า

การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลัง ‘พฤษภาปี 2535’ การรณรงค์ของเราและประชาชนที่ลงชื่อ เกิดขึ้นก่อนที่เราจะได้คุณชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ปฏิเสธมิได้ว่า ความสามารถและกระตือรือร้นของคุณชัชชาติ ส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมการเรียกร้องต้องการให้เกิดการเลือกผู้ว่าฯ ของคนทุกจังหวัด

𝟎𝟐 ทับซ้อนกับ อบจ.หรือไม่

หากเราพูดถึงการกระจายอำนาจ การเลือกผู้ว่าฯ ราชการจังหวัด หรือผู้นำสูงสุดของจังหวัด เป็นการพูดกันมากว่า 30 ปีแล้วดังข้อที่ 1 มีการรณรงค์ซึ่งทำสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องรอรัฐธรรมนูญ ปี 40 และพระราชบัญญัติขั้นตอนกระจายอำนาจ ปี 42

เกิดการเลือก นายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. โดยมีเจตนารมย์ห้วงนั้นคือ ต้องให้อิสระ อำนาจหน้าที่ ถ่ายโอนภารกิจที่เคยเป็นของส่วนกลางไปไว้ที่ท้องถิ่น ให้ความเป็นอิสระทางงบประมาณการเงิน บุคลากร ส่วนกลางทำแต่เพียงกำกับดูเแล ไม่ใช่บังคับบัญชา

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในวงเสวนาหลายวงว่า เราเดินเส้นทางนี้มาเรื่อยๆ ครั้นผ่าน 30 ปี ‘กลับไปไม่ถึงไหน’ การรัฐประหารทั้งปี 49 และ 57 ทำให้ทิศทางการกระจายอำนาจสะดุด อาจเรียกได้ว่าถอยหลัง เหมือนมีคนนำกุญแจมาล็อกไว้

อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีอย่างจำกัด อำนาจที่มีจำกัดยังซ้ำซ้อนกับ กรม กระทรวง กับราชการส่วนภูมิภาค ส่วนกลางที่บอกว่ากำกับดูแลท้องถิ่น นานวันเข้า กลายเป็นบังคับบัญชา เริ่มเข้ามาสั่งการให้ท้องถิ่นทำอย่างนี้อย่างนั้น

ดังนั้น การรณรงค์เลือกผู้ว่าทั่วประเทศ จึงเป็นหมุดหมายของยุคใหม่ ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นกันใหม่

𝟎𝟑 แล้วจะเอา อบจ.ไปไว้ไหน

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกระจายอำนาจ ที่ปรึกษาแคมเปญเราจากคณะก้าวหน้า ซึ่งทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และจังหวัดจัดการตนเองมานาน ให้ความเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้ว ก็จะยุบรวม อบจ.เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีผู้นำสูงสุดของจังหวัดเพียงตำแหน่งเดียว ส่วนชื่อเรียกอะไร ก็แล้วแต่ฉันทามติของประชาชน ผ่านการทำประชามติ


ทั้งนี้ แคมเปญเราคือการรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ดังนั้น ข้อเสนอเบื้องต้นของเราคือ ใช้ชื่อผู้ว่าฯ ซึ่งต้องมาจากการเลือกของประชาชน

𝟎𝟒 ทำได้จริงหรือ กระทรวงมหาดไทยจะยอมหรือเปล่า

ทุกความเปลี่ยนแปลงเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ หากเรารวมพลังกัน ความหวังและความฝันก็ย่อมเป็นไปได้ เช่นที่เราได้ยื่นข้อเสนอและรายชื่อไปยัง กมธ.กระจายอำนาจฯ โดยมีมติส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว

𝟎𝟓 กระจายอำนาจก็เข้าทางเจ้าพ่อท้องถิ่นสิ

ในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งเราเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่น นั่นหมายถึงการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน หมายความว่า ประชาชนจะเป็นคนเลือกผู้แทนจากนโยบายที่ตนพึงพอใจ ผู้มีอิทธิพลต้องแข่งกันนำเสนอนโยบายให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ เรื่องนี่วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกคนมีวิจารณญาณในการเลือก

ถ้าเลือกไม่ดีในวาระนั้นๆ วาระต่อไป เราก็เลือกกันใหม่ เป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องอาศัยความอดกลั้นซึ่งกันและกัน

𝟎𝟔 โกงกันมโหฬารเลยไหม กระจายอำนาจแบบนี้

ชำนาญ จันทร์เรือง เขียนไว้ว่า การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้กลไกของรัฐจะมีการทุจริต คอร์รัปชั่นมาก เพราะห่างไกลการตรวจสอบหรือตรวจสอบได้ยาก

อำนาจเข้มข้นที่ไหน คอร์รัปชั่นหรือการทุจริตก็จะมากที่นั่น ต้นเหตุความรุนแรงทางการเมืองก็เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ หากกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ก็ไม่มีใครอยากแย่งอำนาจ

อำนาจจะอยู่ที่ ‘ปลายปากกา’ ของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง เราเลือกผู้สมัครจากนโยบายที่ชอบ และต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ รวมถึงช่วยกันพัฒนาระบบตรวจสอบให้เข้มแข็ง

อาจารย์ชำนาญบอกว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ในงบประมาณก้อนเดียวกันที่รัฐไทยมีอยู่ เมื่อถูกจัดสรรหรือกระจายไปสู่ท้องถิ่นแล้วจะเห็นได้ว่า

การตรวจสอบงบประมาณหรือโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้กว้างขวางขึ้น เพราะมีหูตามากขึ้น (อย่างน้อยก็จากฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่สอบตกใน 7,850 อปท.)

ซ้ำตรวจสอบได้ง่ายกว่า เพราะอยู่ใกล้ชิดกว่า งบประมาณรั่วไหลน้อยกว่างบประมาณที่ดำเนินการโดยราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค

แม้มีการร้องเรียนมากก็จริง แต่การถูกชี้มูลและเม็ดเงินที่ถูกชี้มูลว่ามีการทุจริตมี ‘น้อยกว่า’ ราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคอย่างเทียบกันไม่ได้

จากรายงานผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ปี 2550-2558 มูลค่าความเสียหายจากการทุจริต ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและร่ำรวยผิดปกติ ประเมินความเสียหายได้ทั้งสิ้น 525,117.28 ล้านบาท

โดยแยกเป็นความเสียหาย คือ ส่วนราชการการ 403,764.83 ล้านบาท (76.89%) รัฐวิสาหกิจ 121,183.63 ล้านบาท (23.07%) ส่วน ‘ท้องถิ่น’ 168.82 ล้านบาท (0.04%)

นี่คือข้อมูลที่ระบุชัดว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนมาก มิได้หมายความว่าเป็นเพราะมีการทำผิดกันมาก ความโปร่งใสจึงไม่ใช่วัดจากจำนวนเรื่องร้องเรียน

แต่ต้องดูที่ระบบการตรวจสอบว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนราชการอื่นๆ

𝟎𝟕 ข้อเรียกร้องมีอะไรชัดเจนบ้าง

หนังสือที่เรายื่นต่อ กมธ.กระจายอำนาจฯ นั้น ระบุไว้ว่า เราเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ปฏิรูปการปกครองทั้ง 3 ส่วน แก้รัฐธรรมนูญ และทำประชามติ

𝟎𝟖 เลือกทุกจังหวัดจะมีความพร้อมหรือ

การเลือกโดยให้นำร่องเป็นบางจังหวัด ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เรานำร่องที่ กทม.และพัทยา กันมานานแล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ได้แต่เฝ้ารอโดยไร้ความหวัง ดังนั้น ในยุคสมัยใหม่ ข้อเสนอเลือกทุกจังหวัดจึงมีความหมาย ความฝัน ที่ขึ้นอยูกับความจริง ประเทศเรามีบุคลากรที่มีความรู้ในการเสนอโมเดลสำหรับความพร้อมของทุกจังหวัด

𝟎𝟗 การเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทำลายรัฐเดี่ยว

พริษฐ วัชรสินธุ (พรรคก้าวไกล) กล่าวไว้ในวงเสวนาของเรา ‘ส่องต่างประเทศกระจายอำนาจ เปลี่ยน(เวร)กรรม เป็นลงมือทำเพื่อความเจริญ’

“ผมคิดไปไกลกว่าที่พูดกันว่า กระจายอำนาจ ‘ไม่เท่า’ กับแบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำ การกระจายอำนาจนี่แหละ เป็นช่องทางหนึ่งในการป้องกันการแบ่งแยกดินแดน

“สหราชอาณาจักรเราต้องยอมรับว่า สก็อตแลนด์มีวัฒนธรรมที่ต่างจากอังกฤษ ฉะนั้นมีคนกลุ่มหนึ่งของสก็อตฯ ที่ต้องการแยกออกมาจากอังกฤษ ถามว่าอังกฤษเขาแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร คำตอบคือการกระจายอำนาจ

“ตอน โทนี่ แบลร์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ปี 1997 หนึ่งในวาระที่เขาผลักดันคือการทำ ‘ประชามติ’ ถามประชาชนในสก็อตแลนด์ว่ารู้สึกอย่างไรกับการกระจายอำนาจ

“การกระจายอำนาจยังเป็นรัฐเดี่ยวอยู่ แต่กระจายเพื่อให้สก็อตแลนด์มีสภาของตนเอง มีผู้บริหารของตัวเอง และมีการจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรรายได้ ภาษีรายได้

“ปรากฏว่าครั้งนั้นมีประชาชนชาวสก็อตแลนด์เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ 74% ไม่เห็นด้วย 26% คือ 3 ใน 4 เห็นด้วย

“ตัดภาพมาอีก 17 ปี ปี 2014 เราเห็นทั้งการเคลื่อนไหวและการจัดประชามติว่าประชาชนชาวสก็อตแลนด์เห็นด้วยหรือไม่กับการแยกตัวออกมาเป็นรัฐของตน

“ตอนนั้นคนสหราชอาณาจักรมีความหวาดกลัวว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดน ปรากฏว่าประชามติครั้งนั้นก็ฉิวเฉียด แต่ว่าฝ่ายที่ให้แยกออกมาเป็นรัฐอิสระแพ้ไป 45% ต่อ 55%

“ผมเชื่อจริงๆ ว่าถ้าเราอยากรักษาความเป็นรัฐเดี่ยว สามรถทำให้รัฐเดี่ยวโอบอุ้มความเสี่ยงได้ การกระจายอำนาจเป็นหนทางรักษารัฐเดี่ยว นี่เป็นคำตอบที่ผมให้คุณหมอวรงค์

“การกระจายอำนาจไม่ได้ทำให้ส่วนกลางอ่อนแอลง แต่จะทำให้ส่วนกลางทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ปัญหาประเทศ”

𝟏𝟎 จากนี้ไปเอาไงต่อ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด กระจายอำนาจ และปฏิรูป อปท.ให้มีอิสระด้านอำนาจและงบประมาณ ต้องอาศัยหลายภาคส่วน รวมไปถึงพรรคการเมือง เราจึงจะนำข้อเสนอที่ ‘ชัดเจน’ และรายชื่อประชาชน ไปยื่นต่อทุกพรรคการเมือง

เพราะการกระจายอำนาจอยู่ในทุกมิติปัญหา ทั้งแต่ทรงผมนักเรียน ความหลากหลายทางเพศ อำนาจนิยมในโรงเรียน น้ำไม่ไหล ไฟดับ ทุกอย่างล้วนต้องการอำนาจจากมือของประชาชน การส่งเสียงของประชาชน

#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

Author

  • คอนเทนต์ที่เกิดจากการปรึกษาทีมที่ปรึกษานักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และสื่อมวลชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *