ประชาธิปไตยทางอาหาร และประเทศทิ้งขว้างผู้คน

เรามีมโนทัศน์กันว่า การกินผักปลอดสารพิษเป็นเรื่องดี แต่การเข้าถึงกลับถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีฐานะ ไปจนถึงชนชั้นเศรษฐี

อนุสรณ์ ติปยานนท์

คุยกับ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้ประพันธ์นวนิยายตราตรึงใจใครหลายคนอย่าง ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ รวมถึง MY CHEFS เรื่องเล่าที่เกาะเกี่ยวระหว่างชีวิตในอาหารและอาหารที่มีชีวิต

อนุสรณ์เล่าให้ฟังว่า ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา เขาเดินทางเก็บเกี่ยววัตถุดิบเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น หากการเดินทางคือสายตาของนักเขียน คำตอบจากการสัมภาษณ์ชิ้นนี้ น่าจะพิสูจน์เชิงประจักษ์ในข้อมูลและทัศนะที่เห็นมากับตา

ในมุมมองของนักเขียน คิดว่าการเขียนวรรณกรรมเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นเรื่องยากง่ายอย่างไร

การเขียนวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องกระจายอำนาจ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าจะยาก เพราะเราอาจยังไม่เข้าใจเรื่องการปกครองท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กระทั่งเรื่องผู้คนในพื้นที่มากพอ การเขียนเรื่องผู้คนที่มารวมตัวกัน เพื่อจัดสรรความเท่าเทียม ค่อนข้างเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อน

ยิ่งผนวกกับวิธีเล่าที่ต้องสร้างความน่าสนใจ วรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องกระจายอำนาจจึงทำได้ไม่สะดวกหรือราบรื่นนัก

เดินทางบ่อย ได้เห็นความไม่เจริญของต่างจังหวัดเรื่องไหนที่อยากพูดถึง

ที่ผมเห็นมากสุดคือเรื่องของความไม่เท่าเทียม การเข้าถึงอาหาร การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงระบบสาธารณสุข อย่างตอนอยู่อีสานจังหวัดชัยภูมินี่เห็นชัด มีการพยายามเกณฑ์คนไปฉีดวัคซีน ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ทั้งๆ ผู้สูงอายุควรฉีดแอสตรา

ในช่วงวิกฤตโควิดหนักๆ เราอาจคิดว่าต่างจังหวัดไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องอาหาร แต่จริงๆ ระบบของซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดประจำมันไม่แข็งเเรงมากนัก การเข้าถึงอาหารจึงผ่านระบบที่เรียกว่า ตลาดนัด

เป็นการวนกันไป เช่น วันอังคารหมู่บ้านนี้ วันพฤหัสอีกหมู่บ้าน พอเกิดวิกฤตโควิด ตลาดนัดก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย การซื้อหาอาหารเหลือเพียงรถพุ่มพวงซึ่งจะตระเวณไปตามหมู่บ้าน

โรงงานที่ขายไก่สดละแวกนั้นเกิดมีพนักงานติดโควิด ก็ส่งออกมาไม่ได้อีก ไม่มีอาหาร ร้านชำประจำหมู่บ้านที่เป็นเสมือนตัวเเทนรับของต่างๆ มาขาย เจ้าของร้านก็กลัวจนต้องปิดร้าน

ในที่สุดหมู่บ้านขนาดเล็ก ก็ไม่มีอาหารเพียงพอ ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ นี่เป็นความเข้าใจที่ต่างมากจากที่เรามีมุมมองต่อชนบท ชาวบ้านต้องปลูกพริก ปลูกมะนาว มะกรูด เลี้ยงไก่ มีไข่ให้กิน

ซึ่งจริงๆ แล้วขณะนี้ เกษตรกรในต่างจังหวัดอยู่ได้ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว บางบ้านปลูกมันสำปะหลัง บางบ้านปลูกอ้อย แล้วนำเงินส่วนที่ได้จากตรงนี้ ไปซื้อไก่ ซื้อไข่ ซื้อแม้กระทั่งพริกมะนาวจากร้านชำ

พอทุกอย่างปิดหมดจึงเกิดวิกฤตมาก บางคนต้องไปขอปันไข่จากบางบ้าน จดกันไปเลยว่าถ้าทุกอย่างเป็นปกติแล้วจะเอามาคืน บางคนพอมีฐานะก็จะรวบรวมเงินกัน เช่ารถปิ๊กอัพของคนที่รู้จัก เพื่อเข้าไปซื้ออาหารในตัวจังหวัด

ส่วนใหญ่ไม่ได้ตุนของนะครับ ในชนบทเป็นการซื้อเเบบวันต่อวัน รับจ้างถางหญ้ามาได้เงิน 300 บาท แบ่งซื้ออาหาร ของแห้ง พรุ่งนี้รับจ้างใหม่ ช่วงวิกฤตนี่แทบไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ ทุกคนกลัวหมด ไม่มีฝ่ายรัฐเข้ามาแจกจ่ายอาหาร เป็นวิกฤตอยู่เกือบๆ 2 สัปดาห์

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มันควรไปพร้อมกับการที่ท้องถิ่นมีโอกาสจัดตั้งทั้งนโยบายด้านอาหาร ด้านการศึกษา การเรียนการสอนในช่วงโควิดก็ตามมีตามเกิด ทำตามแนวทางที่รัฐจัดไว้เท่านั้น

น่าคิดว่า ถ้าชุมชนมีหน่วยงานปกครองเป็นของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีการกระจายอำนาจจริงๆ ปัญหาเหล่านี้มันสามารถแก้ได้ ถ้าตลาดปิดมีแผน 2 ไหม ร้านชำปิดมีแผน 3 ไหม นี่คือสิ่งที่เห็นกับตา และเห็นในทุกที่ด้วย สุราษฎร์ธานีที่ผมไปอยู่ก็เห็น

ชาวประมงที่ต้องออกเรือทุกวันไม่มีที่ทางในการขาย ต้องทำปลาตากแห้งไปวางขายหน้าร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นจุดที่มีคนไปมาหาสู่ ต้องเอาตัวรอดกันแบบนั้น

ถ้ามีการเลือกตั้งผูู้ว่าฯ ทั่วประเทศ สังกัดส่วนท้องถิ่น มีอิสระในการใช้งบประมาณและอำนาจ อยากเห็นนโยบายใดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคน

โดยส่วนตัวอยากเห็นนโยบายด้านอาหาร อาจเป็นเพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำงานเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ทั้งท้องถิ่น อาหารที่ทำจากวัตถุดิบในพื้นที่ จริงๆ ประชาธิปไตยเรื่องอาหารเป็นเรื่องน่าห่วง อาจเป็นสิ่งที่อยู่ไกลจากประชาธิปไตยเรื่องอื่น

เรามีมโนทัศน์กันว่า การกินผักปลอดสารพิษเป็นเรื่องดี แต่การเข้าถึงกลับถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีฐานะ ไปจนถึงชนชั้นเศรษฐี คุณสามารถเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ประเด็นของผมคือผักเหล่านี้มีราคาสูง

ถามว่าคนหาเช้ากินค่ำ สามารถเข้าถึงอาหารเหล่านี้ได้ไหม พอเข้าถึงไม่ได้ แม้เราพยายามสร้างวัตถุดิบที่ดี สร้างพืชผักอาหารที่มีคุณค่า ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ ซ้ำยังมีการกีดกันในเรื่องของฐานะ สภาพความเป็นอยู่โดยเฉพาะเรื่องรายได้

ตรงนี้เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ดีอย่างเท่าเทียม แม้ในกรุงเทพฯ เอง ประเด็นตรงนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ เราอาจมีข้อแม้ในฐานะชนชั้นกลางที่มีรถยนต์ เดินทางสะดวกสบาย อาจไม่พึงพอใจนักกับอาหารข้างทาง กีดขวางการจราจร การเดิน ที่เราเรียกกันว่า สตรีทฟู๊ด

เอาล่ะ ถ้าเราพูดกันเรื่องความสะอาด หรือการกีดขวางการสัญจร มันเป็นเรื่องต้องแก้ แต่เราต้องอย่าลืมมองว่า รถเข็นที่ขายน้ำตกส้มตำขนมจีน รถเข็นข้าวแกง คือแหล่งอาหารของคนหาเช้ากินค่ำ ที่อาจไม่มีตู้เย็นด้วยซ้ำไปในห้องเช่าเล็กๆ

การทำอาหารกินเองเป็นเรื่องสิทธิหรืออภิสิทธิ์ใหญ่ๆ เรื่องหนึ่งเลย ถ้าเรายุบสตรีทฟู๊ดหมด บ้านเมืองอาจดูสะอาดสะอ้าน แต่แหล่งอาหารสำหรับคนมีรายได้น้อยก็จะหายไปด้วย ไม่สามารถโทรสั่งอาหารเดลิเวอรีได้ มีเงิน 50 บาท ก็เดินซื้ออาหารกินให้อิ่มท้อง 1 มื้อ

ฉะนั้น แต่ละเมืองควรต้องมีที่สำหรับรองรับอาหารของคนทุกกลุ่ม และต้องเร่งในการสร้างอาหารที่ดีให้คนทุกกลุ่มเข้าถึง ผมคิดว่านี่เป็นนโยบายที่ทุกผู้ว่าฯ ทุกเมือง ควรต้องทำอย่างยิ่ง

อยากเห็นสื่อมวลชวนเสนอเรื่องกระจายอำนาจอย่างไร

อยากให้เจาะลึกเข้าไปแต่ละพื้นที่ ผมว่าการกระจายอำนาจในแต่ละที่มีนัยความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างผมกลับจากปัตตานี การกระจายอำนาจต้องคำนึงถึงเรื่องทางวัฒนธรรมและศาสนามากพอสมควร

ในขณะอีสานผมคิดว่าการกระจายอำนาจควรคิดถึงด้านเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมในแง่วัตถุดิบที่ขาดแคลน ทางเหนือ ผมคิดว่าเรื่องของป่า ป่าไม้ชุมชน การกระจายอำนาจตรงนั้นก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ ที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่า

ดังนั้น อยากให้สื่อลงพื้นที่ วิเคราะห์ นำเสนอออกมาทั้งในแบบ ไบโอดาต้า เเบบ อินโฟกราฟฟิค น่าจะมีประโยชน์มากกว่าการเสนอแค่ข่าว อยากให้ทำงานในลักษณะของการมีส่วนร่วม เป็นไปได้การมีส่วนร่วมก็เป็นประเด็นหลักไปเลย

การกระจายอำนาจอยู่ในทุกมิติของสังคม ทั้งเรื่องทรงผมนักเรียน ความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ตรงนี้มองอย่างไร

เป็นเรื่องที่ชัดเจน การครอบงำทางอำนาจอยู่ในเรื่องใหญ่ยันเรื่องเล็ก เข้ามหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็จับว๊าก ไปจนถึงเข้าทำงานก็เจอระบบซีเนียร์ อย่างคุณเป็นวิศวกร จบที่ไหน รุ่นไหน เป็นทหารเป็นตำรวจ มันอยู่ในการครอบงำเชิงอำนาจ

คำถามนี้ผมเข้าใจว่า เป็นมิติของคนเท่ากัน คือสามารถเอ็มพาวเวอร์ตนเองได้ในลักษณะเท่าเทียมกัน

อาจฟังอุดมคติ แต่ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำ ในเรื่องการสลายการครอบงำเชิงอำนาจ แม้แต่ในเรื่องอาหารที่ยังไงก็ต้องพูดซ้ำ คนที่มีเงินมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ดี อาหารสุขภาพ อาหารที่มีความหลากหลายมากกว่า

ถ้าคนอีสานอยู่บ้านเกิด ก็สามารถกินได้หลากหลาย พอต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เลือกไม่ได้ แทบจะสูญเสียอำนาจในการเลือก ในขณะที่คุณมีเงิน วันนี้อยากกินอาหารใต้ก็กิน อาหารเหนือก็กิน อยากกินอาหารฝรั่งเศส รัสเซียก็กิน กระทั่งอาหารเกาหลีเหนือคุณก็กินได้

จะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงกระบวนการที่ตนมีอำนาจในการเลือก freedom of choice มันอาจดูเป็นนามธรรม แต่ผมคิดว่าสำคัญและใหญ่มาก คุณอาจเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่หลายๆ อย่างก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เพราะคนได้รับเลือก สนองตอบเพียงบางชนชั้น

#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ หลังยื่น กมธ.กระจายอำนาจฯ ให้ปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง จนมีมติส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย เราจะเดินหน้ายื่นหนังสือและรายชื่อต่อพรรคการเมือง โปรดติดตามการเคลื่อนไหวสำคัญนี้

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *