ที่จริงกระแสปฏิรูปอำนาจท้องถิ่น ลดอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาค มีมานานแล้ว แต่มาจุดปะทุอีกครั้งจากความประทับใจคุณชัชชาติ คือหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้กระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งทุกระดับ คนต่างจังหวัดก็ตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. แต่ปัญหาคือ มีอำนาจจำกัด ถูกควบคุมโดยผู้ว่าฯ นายอำเภอ
อธึกกิต แสวงสุข หรือในนามปากกา ใบตองแห้ง
อธึกกิต แสวงสุข คือสื่อสารมวลชนผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยมายาวนาน
เป็นหนึ่งในนักโทษ 6 ตุลาฯ ถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และ ‘เข้าป่า’ เรารู้จักเขาตั้งแต่สมัยเขียนคอลัมน์ประจำให้ไทยโพสต์ ซึ่งมักไปคนละทิศกับอีกคอลัมน์ด้านบนของ ป๋าเปลว สีเงิน
ปัจจุบันเขายังคงเขียนคอลัมน์วิเคราะห์เหตุบ้านการเมือง และจัดรายการโทรทัศน์อย่างมีทัศนะน่ารับฟัง
ตอนนี้คนต่างจังหวัด อยากเลือกผู้ว่าฯ เอง เพราะเห็นความสามารถของคุณชัชชาติ มีกระแสอยากให้ปฏิรูปอำนาจท้องถิ่น มองอย่างไร
คุณชัชชาติแหวกมิติสร้างความประทับใจ ไม่เพียงเป็นผู้ว่า กทม.จากเลือกตั้ง ที่คนกรุงโหยหามานาน ไม่เพียงเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่จุดเด่นที่สุดคือ เปี่ยมสำนึกในการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ขยัน กระตือรือร้น ลงไปดูหน้างาน เข้าได้ใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับล่าง
นี่เป็นจุดเด่นที่ระบบราชการไม่มี ประยุทธ์ไม่มี ประยุทธ์มาจากการยึดอำนาจ มีจิตสำนึกผู้บังคับบัญชา เห็นประชาชนเป็นพลทหาร ประยุทธ์อาจไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นไม่ใส่ใจประชาชน แต่ประยุทธ์ใส่ใจแบบ ‘นาย’ ดูแลลูกน้อง ผบ.ดูแลพลทหาร รัฐราชการก็เช่นกัน ฝ่ายปกครองอาจมีผู้ว่าฯ นายอำเภอบางคนสนใจดูแล แต่โดยระบบมันเป็น ‘นาย’
ที่จริงกระแสปฏิรูปอำนาจท้องถิ่น ลดอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาค มีมานานแล้ว แต่มาจุดปะทุอีกครั้งจากความประทับใจคุณชัชชาติ
คือหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้กระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งทุกระดับ คนต่างจังหวัดก็ตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. แต่ปัญหาคือ มีอำนาจจำกัด ถูกควบคุมโดยผู้ว่าฯ นายอำเภอ
ควบคุมยังไงครับ
เปรียบเทียบง่ายๆ สิ่งที่คนต่างจังหวัดเห็นคือ ผู้ว่า กทม. ถึงแม้ไม่มีอำนาจเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งข้าราชการได้ทุกหน่วยงาน แต่ก็มีอำนาจแก้ปัญหาได้มากกว่านายก อบจ. อย่างน้อย ผอ.เขตก็ขึ้นต่อผู้ว่า นอกจากนี้ กทม.ยังมีโรงเรียนของตนเอง มีโรงพยาบาล ซึ่ง อบจ.มีบ้างแต่ยังน้อย
อันที่จริง ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความสามารถก็ไม่น้อย แต่โดนโครงสร้างส่วนภูมิภาคกดทับ ก็เลยมีภาพเหมือนนายก อบจ. ต้องค้อมหัวกุมไข่คำนับผู้ว่าฯ อยู่ใต้อำนาจบารมี ขณะที่ผู้ว่า กทม.มีอิสระกว่า
คนต่างจังหวัดจึงอยาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ ซึ่งไม่ใช่เขาไม่เข้าใจว่า มีนายก อบจ.อยู่แล้ว แต่อยากเลือกผู้ว่าฯ หรือนายก อบจ.ของตนเองที่มีอิสระ มีอำนาจตัดสินใจมากกว่านี้
เป็นความต้องการที่มีมานานแล้ว และยิ่งถูกบีบในยุค คสช.ที่ไม่ยอมให้เลือกตั้ง อปท.ยาวนาน อำนาจส่วนกลางเข้าไปกด ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ทหาร เข้าไปควบคุม อปท. บางพื้นที่ตั้งข้าราชการเกษียณเป็นสภา คนเหลืออด พอมีเลือกตั้ง พอเห็นชัชชาติ มันเลยปะทุขึ้นมา
สิ่งใดฉุดรั้งการกระจายอำนาจในมุมมองคุณใบตองแห้ง
ความหวงอำนาจของรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งแยกไม่ออกจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐทหาร-ราชการ ต้องการคุมอำนาจทั้งหมดผ่านโครงสร้างมหาดไทย กอ.รมน. มันเป็นโครงสร้างดั้งเดิมเหมือนผู้ว่าฯ เป็นเจ้าเมือง พอถึงวันสำคัญก็เป็นผู้นำพิธีกรรม โดยเมียผู้ว่าเป็นนายกกาชาด ผู้นำการกุศล
อีกด้านที่สำคัญคือสื่อและประชาชน ไม่ตระหนักความสำคัญของการกระจายอำนาจ มองท้องถิ่นในภาพลบเป็นหลัก เช่น ‘เสาไฟกินรี’ แต่ไม่มองว่ามันโยงอำนาจเผด็จการ นายก อบต.เสาไฟกินรีเคยโดนคำสั่ง คสช.แขวน แต่อยู่ในทีมการเมืองปากน้ำ ส่งลูกชายลง ส.ส.พลังประชารัฐ สุดท้ายก็กลับมาได้ ไม่โดนปลด
เป็นความจริงว่า ท้องถิ่นหลายแห่ง ‘โกง’ บางพื้นที่ก็ถูกผูกขาดโดยบ้านใหญ่ บางพื้นที่ไม่มีใครกล้าสมัครแข่ง บางพื้นที่ก็เป็นแหล่งเงินทองเหลือเฟือ ที่ตั้งสนามบิน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ นักการเมืองท้องถิ่นเอาเศษตังค์มาฟาดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้สบายๆ
มีทางแก้ไหม
ด้วยวิถีประชาธิปไตย ไม่ใช่คิดแต่จะพึ่งองค์กรเทวดาจับปราบ คิดว่าจะปราบโกง กลับเจอ สตง.งี่เง่า กางระเบียบห้ามฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า อบต.บนเขาต้องวัดอุณหภูมิก่อนแจกผ้าห่ม แต่ทหารแจกได้ทุกองศา
คนส่วนใหญ่คิดแต่ว่ามันโกงก็ต้องจำกัดอำนาจ ให้ราชการภูมิภาคควบคุม ผู้ว่าฯ นายอำเภอปลดได้ แล้วถ้าเจอผู้ว่าฯ นายอำเภอตัวร้ายจะว่าไง ยิ่งตรวจสอบไม่ได้
ในทางตรงข้าม เราต้องเพิ่มอำนาจ อปท.ต่างหาก โดยเฉพาะ อปท.เล็ก ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชน เพิ่มอำนาจในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ในเรื่องสำคัญอย่างการศึกษา สาธารณสุข
เช่น การโอน รพ.สต. ไปให้ อปท. โอนโรงเรียนไปให้ อปท. ถ้าคิดแบบนี้คนในเมืองจะช็อก เดี๋ยวนายก อบต.มันก็ยัดลูกสาวจบราชภัฏมาเป็นครู เด็กจบจุฬาฯ สอบไม่ผ่าน แต่ถ้าทำอย่างนั้นจริง เฮ้ย! นี่มันคุณภาพการศึกษาของลูกหลานกู คนทั่งตำบล เผลอๆ จะโดนฮือไล่
การเมืองมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ใกล้ตัว การศึกษา สาธารณสุข มองเห็นง่าย ถ้า อปท.รับไป ไม่มีใครกล้าโกงเรื่องพวกนี้ มีแต่จะต้องบริการให้ดีที่สุด ค่าอาหารกลางวันก็เหมือนกัน ถ้าให้ อปท.รับไป ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ ส่งค่าอาหาร 21 วันผ่านมือ อปท.เท่านั้น ถ้าให้เขารับผิดชอบ มีแต่จะต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อเอาใจประชาชน
นี่ต่างกับถนน เสาไฟ มันค่อนข้างไกลตัว เว้นแต่ห่วยจริงเป็นโลกพระจันทร์ ชาวบ้านก็จะด่าขรม
โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับ อปท.เล็กก่อนนะ เพราะอยู่ใกล้ประชาชน เช่น นายก อบต. คนทั้งตำบลรู้จัก เป็นแล้วรวยขึ้นไหม รวยผิดปกติไหม ไม่ต้อง ปปช.สอบ ชาวบ้านรู้ แค่เสริมกลไกให้มีการถ่วงดุล เปลี่ยนได้ ไล่ได้
อบจ.มันมีปัญหาตรงพื้นที่ใหญ่ และการเมืองระดับประเทศแทรกเยอะ บางพื้นที่ก็ฮั้วกันจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างพรรค เช่น โคราชบ้านผม นายก อบจ.ทุกยุคมาจากพรรคการเมือง 2-3 พรรคฮั้วกัน แต่ถ้าเขาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ประชาชนมากขึ้น มันก็จะเกิดการต่อสู้

อยากเตือนสติสื่อหรือนักวิชาการฝ่ายขวา ที่ชอบปลุกปั่นคนให้เกลียดกัน เช่น บอกอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเป็นกบฏอย่างไร
เรื่องตลกย้อนแย้งคือเขาควรไปถามม็อบกำนัน ทำไมปั่นเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นข้ออ้าง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ เรียกหารัฐประหาร
จริงๆ พวกนี้ไร้ค่า แต่ถ้าจะตอบให้มีสาระ คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่การแยกประเทศ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือปลดล็อกท้องถิ่น มุ่งหมายกระจายอำนาจบริการสาธารณะ
อำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ อัยการ ศาล ความมั่นคง กองทัพ การคลัง การต่างประเทศ ยังอยู่กับส่วนกลาง
พวกนี้ไม่ได้มีการศึกษา ไม่เรียกว่านักวิชาการ เพราะเวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจก็ไปอ้างแบบอเมริกาเป็นสหพันธรัฐ ไม่ดูว่าญี่ปุ่น หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ก็กระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง
มุมมองของคุณใบตองแห้ง การกระจายอำนาจคืออะไร
การกระจายอำนาจเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือให้ประชาชนปกครองตนเองทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ดูแลทรัพยากร จัดการบริหารบริการสาธารณะร่วมกัน
ในทางกลับกันมันก็สร้างสำนึกรับผิดชอบตนเอง เป็นเจ้าของร่วมกัน ประชาธิปไตยในหลายประเทศเข้มแข็งเพราะมีการปกครองตนเองเป็นรากฐาน
ยกตัวอย่างอเมริกา แม้ตอนหลังจะดูแตกแยกรุนแรง แต่ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยอเมริกัน มาจากการปกครองตนเอง แต่ละชุมชนเลือกนายกเทศมนตรี นายอำเภอ ผู้พิพากษา แล้วประกอบกันเป็นเมือง เป็นรัฐ เป็นประเทศ
ต่างกับสังคมไทย ที่ไม่ยอมรับการปกครองตนเอง รวมศูนย์อำนาจมายาวนานร้อยกว่าปี เป็นสังคมมูลนาย ขึ้นต่อเป็นชั้นๆ ไม่ยอมให้ตัดสินใจเอง ทั้งที่รากฐานดั้งเดิม สังคมชนบทก็เป็นชุมชนย่อยที่ค่อนข้างอิสระ ปกครองกันเองด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ มีวัดอยู่กลางหมู่บ้าน
ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ไม่ยอมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ไม่ยอมกระจายอำนาจในระบบราชการด้วย
ระบบราชการไทยรวมศูนย์อำนาจเหมือนกับกึ่งสมบูรณาฯ ทุกอย่างขึ้นกับ ‘นายสั่ง’ ข้าราชการแต่ละระดับไม่มีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง รับผิดชอบเอง ขนาดผู้พิพากษายังไม่มีอิสระ จนผู้พิพากษาคณากร (เพียรชนะ) ฆ่าตัวตาย แล้วข้าราชการฝ่ายอื่นจะเป็นอย่างไร
แน่ล่ะ ทหารต้องทำตามนายสั่ง แต่นั่นคือในสนามรบ ไม่ใช่งานประจำวัน และไม่ใช่เอาระบบนี้มาใช้กับพลเรือน กับทุกฝ่าย ยกตัวอย่างตำรวจ บังคับบัญชาแบบทหาร ทั้งที่พนักงานสอบสวนต้องมีอิสระ เพราะเป็นด่านหน้ากระบวนการยุติธรรม จะสั่งฟ้องสั่งไม่ฟ้องต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน ไม่ใช่ผู้กำกับผู้บังคับการผู้บัญชาการหรือ ผบ.ตร.สั่งได้
หน่วยงานต่างๆ ก็เหมือนกัน เช่น การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ข้าราชการที่รับผิดชอบต้องมีอำนาจตัดสินใจ เพราะถ้าเกิดความไม่โปร่งใสเขาต้องรับโทษ ‘นาย’ ต้องแทรกแซงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักประกันในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เปิดเผยโปร่งใส ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจของอธิบดีหรือหัวหน้างาน
อันที่จริงหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบราชการก็พยายามจะกระจายอำนาจ วางหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้น แต่ราชการไทย ทำไปทำมาก็เพิ่มงานเอกสาร เช่น การประเมินครู เอกสารกองเป็นตั้ง ทำอย่างไรจะประเมินครูจากผลการเรียนการสอน ไม่ใช่ต้องเอาใจ ผอ.เป็นชั้นๆ ปัญหาโลกแตกของระบบราชการไทย
ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ รัฐประหาร 5 ปี ยิ่งรวมศูนย์อำนาจ ส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ อันที่จริงมีอิสระจากผู้ว่าฯ นายอำเภอไปเยอะแล้ว ช่วงรัฐประหาร ต้องกลับมาอยู่ใต้คำสั่งผู้ว่าฯ เพราะผู้นำทหารชอบระบบสั่งการสายตรง คลัง พาณิชย์ เกษตร ต้องขึ้นต่อผู้ว่าฯ แล้วผู้ว่าฯ รายงานส่วนกลาง
อย่างครู ซึ่งแยกเป็นเขตพื้นที่ไปแล้ว คสช.ก็ไปตั้งศึกษาธิการจังหวัด มีผู้ว่าเป็นประธานกรรมการ
คือเขายังชอบระบบเดิม อยากให้สรรพากรอำเภอเป็นสมุห์บัญชีอำเภอ อยู่ใต้บังคับนายอำเภอ เป็นคนเก็บภาษี ถือเงินอำเภอ และเรี่ยไรเงินจัดงานอำเภอ ทั้งที่ตอนนี้สรรพากรแยกไปเป็นเขตพื้นที่และสาขา
ราชการส่วนต่างๆ ที่มีงบมีงานของเขาเอง เวลาไปเบิกเงินคลังจังหวัด ก็ยังต้องขอลายเซ็นผู้ว่าฯ นี่เล่ากันมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ว่าหักหัวคิว 5% 10% เดี๋ยวนี้ยังมีไหมไม่รู้ แต่ทำไมต้องผ่านผู้ว่าฯ
เราชอบพูดกันว่า การเมืองอยู่ในทุกสิ่ง จริงไหม
การเมืองอยู่ในทุกสิ่งในชีวิตเราแน่นอน การเมืองกำหนดเศรษฐกิจปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ รัฐสวัสดิการ บริการสาธารณะ ความยุติธรรม ความเป็นธรรมในสังคม
เพียงแต่โลกและชีวิตมันมีความหลากหลาย มีด้านอื่นๆ ที่ทำให้คนคิดว่าไม่ต้องยุ่งเกี่ยวการเมืองก็ได้ เช่น ชีวิตประจำวันที่ต้องทำมาหากิน แม้นโยบาย ความสามารถของรัฐบาล มีผลต่อเศรษฐกิจ แต่คนก็ได้รับผลกระทบต่างกัน
บางคนที่ไม่กระทบโดยตรงก็คิดว่าตนเองอยู่ได้ ดิ้นรนได้ ยังมีคนประสบความสำเร็จ แม้น้อยกว่าช่วงเศรษฐกิจดี การเมืองดี
คือถ้าเปรียบเทียบให้สุดๆ ถ้าเราเป็นคนศรีลังกา คนพม่า ก็จะเห็นว่าไม่มีใครรอดพ้นชะตากรรมจากการเมืองแย่ แต่ตราบใดที่มันยังไม่ถึงขนาดนั้น คนก็ยังคิดว่าอยู่ได้ ก็ไม่อยากดิ้นรนเปลี่ยนการเมือง โดยเฉพาะการเมืองที่มันมีอำนาจใหญ่มหึมาครอบงำอยู่ เขาอาจรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะต่อสู้เปลี่ยนแปลง
แต่โดยความเป็นจริง มันจะบีบคั้นให้แย่ลงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมด้วย ยกตัวอย่างการใช้อำนาจอยุติธรรมกับม็อบ คนวงนอกมักจะเชื่อว่าเป็นแค่การเลือกปฏิบัติกับคนที่ต่อต้าน
แต่ถ้าตำรวจ อัยการ ศาล เคยชินกับการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ไร้เหตุผล อยุติธรรม
คนทั่วไปก็จะเจอเช่นกัน
เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ เราฝันอยากเห็นคนมีวิสัยทัศน์ทั่วประเทศ กระจายอำนาจ และปฏิรูปกันใหม่ หลังยื่น กมธ.กระจายอำนาจฯ ให้ปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง จนมีมติส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย
เราจะเดินหน้ายื่นหนังสือและรายชื่อต่อพรรคการเมือง โปรดติดตามการเคลื่อนไหวสำคัญนี้