ไม่มีใครตายเพราะการศึกษาฟรี ความเหลื่อมล้ำเท่านั้นที่ฆ่าคน

ไม่มีใครตายเพราะการศึกษาที่ฟรี ไม่มีใครตายด้วยความเสมอภาค มีแต่ความเหลื่อมล้ำเท่านั้นที่ฆ่าคน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

“ในฐานะลูกอดีตข้าราชการที่เบิกค่าเรียนได้จนถึงอายุ 20 รู้สึกเซ็งมาตลอดที่สิทธิค่าเล่าเรียนไม่ถ้วนหน้า เพราะญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนบางคนซึ่งพ่อแม่ทำอาชีพทั่วไปไม่มีโอกาสตรงนี้

“รายละเอียดเรื่องการกู้ยืมไม่ค่อยรู้ รู้แต่ว่า กยศ.นี่สร้างปัญหาให้ผู้คนอย่างมาก เด็กจบมายังมีเงินไม่พอจ่าย โดนดอกเบี้ยไปอีกจนท้อ

“สุดท้ายจ่ายไม่ไหว คนค้ำประกันก็เดือดร้อนอีก ตนเองต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เสียประวัติไปเลย ถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

“ทีนี้ต้องมาดูข้อมูลกันก่อนว่าการล้างหนี้มีผลย้อนหลังหรือเปล่า ถ้าจะแฟร์ อย่างน้อยรัฐต้องคืนดอกเบี้ยให้คนที่จ่ายครบจ่ายตรงเวลา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว การเรียนฟรีคือเป้าหมายสูงสุด

“เท่าที่ตามอ่านความเห็นจากเพจข่าวทั่วไป หลายคนเฟลเพราะตั้งหน้าตั้งตาจ่ายทั้งต้นทั้งดอก

“หลายคนก็ว่าเป็นหนี้ต้องใช้ อันนี้อ้างอิงจากหลักสามัญสำนึก ยังไม่พูดถึงว่าหนี้ก้อนนี้ไม่ควรเกิด เป็นไปได้ก็ต้องรณรงค์อย่างใจเย็น เข้าใจวัตถุประสงค์ของอาจารย์อยู่แล้ว (ษัษฐรัมย์)

“แต่ก็ต้องหาทางทำให้สังคมและคนที่ได้รับผลกระทบทั้งที่จ่ายคืนครบแล้ว และคนที่ยังไม่ได้จ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

“เหนื่อยใจ รัฐบ้าอะไรทำให้ประชาชนต้องมานั่งเถียงกันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน”

คือเสียงของ ประชาชนคนหนึ่ง ที่เห็นว่า การเรียนฟรีต้องเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’

เราได้ฟังคลิปที่ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาแคมเปญเรา พูดไว้น่าสนใจว่า

“เรื่องรัฐสวัสดิการไม่ควรมีใครมีความรู้มากกว่าใคร” เราตีความว่า มันคือเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่คนทุกคนเข้าใจได้ง่ายๆ

อาจารย์ยังโพสต์อีกว่า ปัญหาหนี้ กยศ. ใหญ่โตมาหลายสิบปี ทุกพรรคการเมืองทราบ รับฟังปัญหากราบกรานประชาชน แต่ตอนจบเราได้แค่ กรรมการศึกษาเรื่องนี้ และแค่ประนีประนอมให้ กยศ.ฟ้องช้าลง

ข้อเสนอของ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการคือยืนยันหลักการนี้ รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายถึงระดับอุดมศึกษาพร้อมค่าครองชีพ และถ้าเราผลักดันการศึกษาที่ฟรีได้แล้ว ผู้ที่มีหนี้สินจากนโยบายการศึกษาที่ล้มเหลวพึงได้รับการเยียวยา

มีหลายสิบประเทศในโลกที่มีการศึกษาฟรี มีประชากรหลักพันล้านคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ การยกหนี้การศึกษา ก็เกิดขึ้นหลายครั้งหลายเงื่อนไขในหลายประเทศ ส่วนไทยเรายกหนี้ให้นายทุนเจ้าสัวจนเป็นเรื่องปกติ

ไม่มีใครตายเพราะการศึกษาที่ฟรี ไม่มีใครตายด้วยความเสมอภาค มีแต่ความเหลื่อมล้ำเท่านั้นที่ฆ่าคน

ษัษฐรัมย์ อธิบายให้ ไทยรัฐพลัส ฟังว่า แคมเปญนี้เป็นการผลักดันไปสู่เป้าหมายรัฐสวัสดิการให้ทุกคนได้เรียนฟรีและมีค่าครองชีพระหว่างเรียน หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายคือ รัฐให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาแก่ประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่เคยให้ผ่าน กยศ. แต่เปลี่ยนจากที่เคยให้กู้ยืมเป็นการให้เปล่า เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิ์เรียนฟรีเท่าเทียมกัน

สำหรับประเด็นการล้างหนี้ กยศ. นั้น เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการแก้ปัญหาสำหรับหนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยไอเดียที่แคมเปญ #ล้างหนี้กยศ เสนอก็คือ ให้รัฐเข้ามารับภาระหนี้ กยศ.แทนผู้กู้เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระเงินคืน ตามที่ พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากำหนดไว้ ซึ่งก็คือหลังจากเรียนจบครบ 2 ปีแล้ว หรือในปีที่ 3 หลังจากเรียนจบ

“มันคือชีวิตจริง คนเลือกได้ไม่กี่อย่าง แม้แต่คนที่ใช้หนี้หมดแล้วเขาก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถ้ามีเวลาคุยกัน ได้เห็นถึงปัญหาของชีวิตคนจริงๆ ผมคิดว่าคนส่วนมากมีแนวโน้มจะเข้าใจ

“การทำแคมเปญของผม ถ้าในชีวิตจริงมันเดือดแบบในทวิตเตอร์ เดินไปไหนผมคงโดนปาก้อนหินใส่ แต่ว่าในชีวิตจริงเวลาเดินออกไป สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือแม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรงก็มีแนวโน้มจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ และเห็นอกเห็นใจเรื่องนี้”


วริษา สุขกำเนิด เขียนในเพจ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ความตอนหนึ่งว่า การเรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ กยศ.ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงที่เดียว ในสหรัฐอเมริกา กระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกหนี้การศึกษาก็เกิดขึ้นเช่นกัน

ช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 เบอร์นี แซนเดอร์ หนึ่งในผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้รณรงค์นโยบายยกเลิกหนี้การศึกษาทั้งหมด

เหตุผลของเขาคือการศึกษาไม่ควรจะต้องทำกำไร และไม่ควรมีใครติดหนี้จากการบริการของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน

ในข้อโต้แย้งที่ว่า การยกเลิกหนี้ กยศ.จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ชำระค่าหนี้ของตนเองสำเร็จแล้ว Ben Burgis อาจารย์คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ โต้กลับว่า

หากเป็นเช่นนั้น การดำเนินการอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตของคนในปัจจุบันดีขึ้น ก็ล้วนแต่ไม่ยุติธรรมกับคนในอดีตเช่นกัน

อ่านเต็มๆ ที่ https://www.facebook.com/welfarewillwin/posts/pfbid0ZirT4MfFLMGHXQ5csdGFxPSqfbh66M2ENNsyj5HSH6G2YxswKDBVqGqaMeQoaSirl

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศล้างหนี้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา. มูลค่าสูงสุดประมาณ 680,000 บาทต่อคน โดยก่อนหน้านี้ได้มีกระบวนการพักชำระหนี้ มีคนสนับสนุน และตั้งคำถามปนกัน แต่สุดท้ายก็ยืนหยัดเพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่

ภาพ: นพเก้า คงสุวรรณ


พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง โพสต์ว่า มีคนชวนมองเรื่องการศึกษาฟรีในเชิงสวัสดิการมากแล้ว โดยเฉพาะศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ที่มีอาจารย์ ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ เป็นกำลังสำคัญ เขาอยากชวนมองในแง่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บ้าง

“มิตรสหายที่ทำงานเอกชนคงทราบดี องค์กรมักจะส่งพนักงานไปอบรมเพิ่มพูนความรู้ทักษะอยู่เสมอ หรืออาจจะจัดหลักสูตรขึ้นมาเองในองค์กร ทั้งหมดพนักงานที่เข้าร่วมไม่มีค่าใช้จ่าย ไปร่วมโดยไม่เสียเวลาทำงาน แถมยังมีทักษะเพิ่มไว้ใส่ในโปรไฟล์เผื่อย้ายองค์กรอีก บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้เราทำไม

“มองดูระดับประเทศ หากทุกคนเรียนขั้นต่ำระดับอุดมศึกษาเพราะมีการเปิดกว้างให้เรียนฟรี (แถมยังมีค่าครองชีพ – ตามข้อเสนอของอาจารย์ษัษฐรัมย์ฯ) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ต่อให้คนส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถระดับกลางๆ แต่เราจะมีคนระดับกลางๆ ที่จบระดับอุดมศึกษาจำนวนมาก

“มองในแง่ค่าตอบแทน คนจบระดับอุดมศึกษาย่อมได้ค่าตอบแทนในการทำงานมากกว่า ในภาพรวมก็จะไปกดดันในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อฉุดค่าตอบแทนคนระดับล่างขึ้นมาด้วย

“กรณีหากมีการ ‘ล้างหนี้ กยศ.’ หนี้จากเม็ดเงินนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับไปอยู่ในมือลูกหนี้ที่ไม่ต้องใช้หนี้อีกต่อไป เขาก็ย่อมเอาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ช่วยขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจชาติต่อไป

“รัฐเองก็มีนโยบายล้างหนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ ธกส. หรืออื่นๆ เกษตรกรที่ได้ล้างหนี้ เขาจะนำเงินไปซื้อรถกระบะ หรือไปซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น สุดท้ายมันก็เป็นสิทธิของเขา จากนโยบายในภาพรวมที่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ

“ในส่วนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานั้น ทำไมเราไม่มองว่ามันเป็นความผิดพลาดของนโยบายรัฐบ้าง ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการศึกษายากขึ้น ต้องเป็นหนี้เป็นสินกว่าจะเรียนจบ กว่าจะหาเงินใช้หนี้ครบเพื่อทำงานมีครอบครัวลืมตาอ้าปาก การสร้างโอกาสในชีวิต และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศ

“กลับทำให้เขาเป็นลูกหนี้ของรัฐ ทั้งที่รัฐได้ประโยชน์จากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาเอง ทั้งจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มากขึ้น รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้น รัฐยังจะขูดรีดดอกผลจากเขาอีกเหรอ

“นี่ยังไม่นับประเด็นยิบย่อย เช่น การจะกู้ได้ต้องมีอาจารย์ค้ำประกัน หรือผู้กู้ต้องมีสมุดบันทึกความดีว่ามีการทำงานจิตอาสาระหว่างเรียน นี่มันจะไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรอกหรือ

“สำหรับผู้กู้ที่จ่ายหนี้มาก่อนแล้วรู้สึกไม่เป็นธรรม ก็ลองคิดดูว่าประเทศที่พัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ย่อมมีนโยบายที่ดีกับประชาชนออกมาเรื่อยๆ ตอนที่รัฐมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หากครอบครัวที่เคยมีคนเสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงการรักษาก่อนจะมีนโยบายนี้

“เราจะเลิกนโยบายนี้เพราะไม่เป็นธรรมกับเขางั้นหรือ หากวันนี้รัฐบาลยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณก็จะโวยวายว่ายกเลิกไม่ได้ต้องเก็บต่อไปเพราะคุณจ่ายมามากแล้วอย่างนั้นหรือ

“ที่สำคัญ การศึกษาฟรีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง เพราะทุกวันนี้ลูกหลานคนจนก็เข้าไม่ถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น การมีสวัสดิการเรียนฟรี มีค่าตอบแทนย่อมแบ่งเบาภาระของครอบครัว ทำให้คุณภาพชีวิตดีมากขึ้น

“และเขาก็จะตอบแทนให้รัฐในการชำระภาษี และช่วยสร้างความเจริญเติบโตของตัวเลข GDP ให้มากขึ้นด้วย เราไม่ชอบแบบนี้เหรอ

ด้าน ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง นักเขียนนักแปล และที่ปรึกษาแคมเปญเราให้ความเห็นถึงเรื่องหนี้ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน

“หนี้ก้อนแรกของคนในชนบท เราว่าคือหนี้รถมอเตอร์ไซค์ คือหนี้ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำมากที่สุดอย่างหนึ่ง คนกรุงเทพฯ ฐานะยากจน ยังพอหาเบี้ยหัวแตกมาจ่ายค่าวิน ค่ารถสองแถว ค่ารถเมล์ รถ ปอ. รถไฟฟ้า

“ไม่ต้องแบกหนี้ของพาหนะเดินทางถ้าไม่ซื้อ ไม่ต้องแบกค่าซ่อมรถด้วย แต่คนชนบทต้องแบกหนี้ของพาหนะเดินทางมาตั้งแต่เกิด บ้านหนึ่งมีกี่คน ก็แทบจะต้องมีจำนวนมอเตอร์ไซค์เท่าจำนวนคนในบ้าน

“นั่นหมายถึงหนี้ที่ต้องจ่ายวนไปชั่วชีวิต ยังไม่พอ ยังอาจถูกคนกรุงต่อว่าซ้ำอีก มีเงินหน่อยไม่ได้ ต้องไปซื้อมอเตอร์ไซค์มาให้ลูกขับเล่น”

ว่ากันที่ ‘หนี้ กยศ.’ ภัควดีกล่าวว่า ในประเทศที่ชนชั้นนำใช้เงินภาษีอีลุ่ยฉุยแฉกถลุงกับความไร้สาระทุกอย่าง ดั่งท่อนซุงตกใส่หัว

“หลายคนพูดกันในแง่ความเป็นธรรมต่างๆ แต่แม่บ้านอย่างเราต้องพูดเรื่อง realistic กว่านั้น นั่นคือ ผลได้ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดกับการยกเลิกหนี้ กยศ. ซึ่งควรทำพร้อมกับการปรับระบบการศึกษาให้มีต้นทุนต่ำลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นสวัสดิการที่ทุกคนควรเข้าถึงให้มากที่สุด

“การยกเลิกหนี้ กยศ. หรือการล้างหนี้คนจนอีกหลายประเภท มันคือการเพิ่มเงินสดให้อยู่ในมือคนจนมากขึ้น เวลาชนชั้นแรงงานหรือชนชั้นกลางระดับล่างมีเงินมากขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำทันทีคือการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคพื้นฐาน”

เป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเคลื่อนไหวหมุนเวียน และจะกลายเป็นผลดีโดยรวมต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ รวมทั้งเงินในกระเป๋าของคนไม่เห็นด้วย

“ส่วนการใช้จ่ายภาษีไปกับการอุ้มการบินไทย การซื้อรถเบนซ์ตรวจการ การซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ การซื้อเอฟ 35 ไม่ติดอาวุธ การปักเสาไฟกินรี การยกเว้น ลดภาษีให้พวกเจ้าที่ดิน การเกณฑ์ทหารที่เข้าข่ายการเกณฑ์แรงงานฟรีให้นายทหารเอาไปจิกหัวใช้ฟรีที่บ้าน การสร้างเขื่อนกันคลื่น และอีกมากมาย

“มันคือการเพิ่มปริมาณเงินสดให้กลุ่มคนที่รวยอยู่แล้ว และเวลาคนที่มั่งคั่งมีเงินเพิ่มขึ้น พวกเขาไม่ได้ใช้ไปกับการอุปโภคบริโภคพื้นฐานมากนัก ถึงจะใช้ จำนวนของคนรวยมันมีน้อยนิดจนไม่เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ”

นักแปลงานต่างประเทศอย่างภัควดีให้ความเห็นต่อว่า ระบบทุนนิยมเสรีนิยม คือระบบที่หวังให้เงินไหลไปรวมที่คนรวย เกิดการสะสมทุน ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ สร้างงานเพิ่มขึ้น

“แต่ช้าก่อน ระบบเศรษฐกิจแบบปรสิตที่อาศัยการปล้นกับการแสวงหาค่าเช่าของประเทศนี้ อย่าไปหวังมากว่าจะเกิดการลงทุน แล้วจะมีงานเงินเดือนแพงๆ ให้คุณทำ พวกปรสิตมันลงทุนเป็นที่ไหน

“ใช้วิธีปล้นชิงเอามันง่ายกว่าเยอะ เงินที่ได้มาส่วนใหญ่จึงใช้จ่ายไปกับความหรูหรา ซึ่งเป็นการไหลออกไปสู่สินค้าแบรนด์เนมต่างประเทศมากกว่า”

หากไม่พอใจข้อเสนอยกเลิกหนี้ กยศ. ควรไม่พอใจการถลุงภาษีในหมู่ชนชั้นนำด้วย

“เราว่ามันไม่ใช่เรื่องหลักการอะไร มันแค่เรื่องตาดำกับตาขาวมากกว่า” ภัควดี ปิดท้าย

จบด้วยข้อเสนอของมิตรสหายท่านหนึ่ง

“ถ้าจะแคมเปญเรื่อง กยศ.(ที่จริงๆ คือเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ) แล้วโพล่งเรื่องล้างหนี้มาเลย ก็จะโดนแรงต้านแบบนี้ ถ้าไม่เชื่ออีกครึ่งปีลองใหม่ก็ได้

“ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ถ้าจะเล่นอาจจะต้องวางแผนปูเรื่องเป็นซีรีย์ หาทางสื่อสารที่จะจูงมือคนไปดูที่ละเปลาะของปัญหา ใช้ storytelling ดีๆ ให้คนอิน กับเสนอทางออกเป็นแพ็คเกจ แบบนี้น่าจะลดแรงต้านไปได้ระดับหนึ่ง คือได้ไม่ 100% หรอก แต่น่าจะง่ายกว่าตอนนี้”


เราเห็นว่า ‘การกระจายอำนาจ’ คือทางออกหนึ่งของเรื่องนี้ เพราะการกระจายอำนาจให้ทุกคนมีสิทธิออกแบบชีวิตตนเองนั้น เป็นกระบวนการรวมรวบผู้คนให้ได้แสดงความเห็น
.
ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นข้อเสนอที่รัดกุม การกระจายอำนาจอยู่ในทุกปัญหา หากเรามีอำนาจทางการเมือง มีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย เราจะมีกำลังใจส่งเสียงในประเด็นที่ตนสนใจ โดยมีความหวังว่า รัฐต้องรับฟัง
.

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *