การกำเนิดใหม่ของ คณะราษฎร

“ก่อนการรัฐประหาร 49 ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ถูกลืมอยู่แล้ว เพียงแต่ในทัศนะของภาครัฐ ยังไม่เป็นที่ถูกรังเกียจมากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่พอหลังรัฐประหาร 49 ต่างหากที่ทำให้มรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรค่อย ๆ ถูกรื้อฟื้นความหมายและได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ”


ย่ำรุ่งศุกร์ 24 มิถุนายน 2475 ‘คณะราษฏร’ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ 10 ธันวาคม 2479 ‘หมุดคณะราษฎร’ ถูกฝังอยู่กับพื้นถนนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ อ่านประกาศคณะราษฎร

ปัจจุบัน หมุดคณะราษฎรสูญหาย หลังถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ในปี 2560 กระบวนการประกอบสร้างความทรงจำเป็นเรื่องน่าศึกษา

เราขอความรู้จาก ‘ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ’ ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ นักวิชาการที่ศึกษามรดกของคณะราษฎรอย่างจริงจัง

หากเรานับ 2475 เป็นการเริ่มต้นกระจายอำนาจสู่ประชาชน ส่วนรัฐประหารปี 2549 เป็นการเริ่มต้นรวบอำนาจคืนในยุคสมัยใหม่ มีศิลปะหรือสถาปัตยกรรมใดของคณะราษฎร ที่ถูกทำให้ลืมนอกจากหมุดที่หายไป

ในความเป็นจริง ก่อนการรัฐประหาร 49 ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ถูกลืมอยู่แล้ว เพียงแต่ในทัศนะของภาครัฐ ยังไม่เป็นที่ถูกรังเกียจมากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่พอหลังรัฐประหาร 49 ต่างหากที่ทำให้มรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรค่อย ๆ ถูกรื้อฟื้นความหมายและได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ

จนถึงช่วงราวปี 2555-2556 กระแสรื้อฟื้นก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น จนอนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรหลายแห่งกลายมาเป็นพื้นที่ชุมชนุมทางการเมืองในกลุ่มที่เรียกอย่างกว้างๆ ว่าฝ่ายประชาธิปไตย ผมเคยเขียนเอาไว้หลายที่แล้วว่าปรากฎการณ์นี้เป็นเสมือนการ ‘เกิดใหม่’ ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎร

ด้วยกระแสดังกล่าว ทำให้รัฐและชนชั้นนำอนุรักษนิยมเริ่มไม่สบายใจและต้องการทำลายพลังทางการเมืองที่กระทำผ่านมรดกศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร จนภายหลังการรัฐประหาร 2557 ก็เริ่มกระบวนการที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ยุคนี้ถูกลืมอีกครั้ง ให้ย้อนกลับไปเหมือนก่อน 49

ภายใต้กระบวนการอยากทำให้ลืมนี้ การรื้อทำลายมรดกศิลปะและสถาปัตยกรรมก็ถูกเลือกมาเป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งเราจะเริ่มเห็นวิธีการนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น เอาเข้าจริงแล้ว มิใช่มีเพียงแค่หมุดคณะราษฎรเท่านั้นที่ถูกทำให้ลืม แต่ยังมีอีกมากเลยที่สำคัญ อาทิ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่า อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัด เป็นต้น

จากการค้นข้อมูล ในสมัยก่อนมีวัตถุเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไฟเเช็ค ที่พยายามสื่อถึงการอภิวัฒน์ เราอาจเชื่อมโยงถึงการพยายามทำงานกับความทรงจำคนในเรื่องการกระจายอำนาจ ตรงนี้อาจารย์คิดอย่างไร

ไม่เชิงเกี่ยวข้องกับไอเดียว่าด้วยการกระจายอำนาจนะครับ ปรากฎการณ์ที่มีการสร้างสิ่งของวัตถุในชีวิตประจำวันที่สื่อถึง 2475 และรัฐธรรมนูญมากมายในช่วงเวลานั้น ในทัศนะผม มันสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและชื่นชมในหมู่ประชาชนวงกว้างที่มีต่อระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มันเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติ 2475 มิใช่การชิงสุกก่อนห่าม มิใช่เป็นเรื่องที่รับรู้แค่คนกรุงเทพฯ แต่มันกระจายตัวไปสู่ประชาชนตามจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างไกลกว่าที่หลายคนคิด โดยมีหลักฐานยืนยันจากการปรากฎขึ้นของสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเหล่านั้น ที่ถูกออกแบบให้มีสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในยุค โซเชียล มีเดีย การจัดการความทรงจำผู้คนผ่านการทำลายสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะข่าวสารไหลเวียนอย่างไม่อาจยับยั้ง อาจารย์มองอย่างไร

เห็นด้วยว่าในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยช่องทางสื่อสารระหว่างกันอย่างหลากหลาย การจัดการความทรงจำทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของผู้คนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และการรื้อทำลายมรดกศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรก็มิได้ส่งผลให้ผู้คนลืมประวัติศาสตร์คณะราษฎรแต่อย่างใด

ที่สำคัญคือ ผลสะท้อนที่ได้รับกลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือผู้คนต่างอยากรู้ว่าทำไมและอะไรคือสาเหตุที่ต้องรื้อทำลาย จนก่อให้เกิดกระแสการย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์คณะราษฎรมากยิ่งขึ้นเสียอีก

ในยุคปัจจุบัน เรายังต้องสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยอยู่ไหม

ผมคิดว่ายังจำเป็นอยู่นะ แต่ความจำเป็นในที่นี้มิใช่หมายถึงการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเชิดชูหลักการประชาธิปไตย แต่ผมกำลังหมายถึงอะไรที่กว้างกว่านั้น คือการออกแบบอาคารสาธารณะในทุกประเภทที่สร้างขึ้นจากภาษีของประชาชน

ควรอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบการใช้งานพื้นที่ภายในที่สนองต่อหลักการประชาธิปไตย เป็นอาคารที่เอื้อประโยชน์กับคนทุกประเภทให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นอาคารสาธารณะที่ควรลดละเลิกการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ลงบ้าง และเพิ่มพื้นที่สำหรับประชาชนแทน ควรออกแบบอาคารไม่ให้ดูกดข่มประชาชน ให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของอาคาร เป็นอาคารที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มีกระแสเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
.
หากให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจริงๆ เราควรเน้นไปที่การเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือ อบต. ซึ่งจะเป็นการกระจายอำนาจที่ตรงประเด็น

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดอื่น ๆ ผมคิดว่าไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจเท่าไร เพราะแม้มาจากการเลือกตั้ง แต่โครงสร้างใหญ่ที่เป็นอยู่ของตำแหน่งผู้ว่าฯ คือข้าราชการที่ขึ้นต่อส่วนกลาง คือ กระทรวงมหาดไทย ตรงนี้มันมีนัยของการรวมศูนย์อำนาจมากกว่าที่จะกระจายอำนาจ

#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
หลังเข้าร่วมเสนอข้อเรียกร้อง #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปฏิรูปขอบเขตอำนาจและงบประมาณ อปท.ให้มีอิสระในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกจังหวัด แก้รัฐธรรมนูญ
.
ต่อ คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีตัวแทนจาก ‘กระทรวงมหาดไทย’ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน นายซูกาโน มะทา ประธานในที่ประชุมมีมติส่งเรื่องให้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยพิจารณา
.
เสียงของท่านที่รวมพลังกัน มีความหมาย ต่อไปเราจะผลักให้พรรคการเมืองที่เห็นค่าเสียงประชาชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *